ปอร์ฟิริอาโต ค.ศ. 1876 - 1911 ของ การปฏิวัติเม็กซิโก

นายพลปอร์ฟิริโอ ดิอัซ ประธานาธิบดีเม็กซิโก

ยุคปอร์ฟิริอาโต เป็นช่วงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงหลังคริสต์ศตวรรษที่ 19 ของประวัติศาสตร์เม็กซิโก ที่ถูกครอบงำโดยนายพลปอร์ฟิริโอ ดิอัซ ซึ่งกลายเป็นประธานาธิบดีของเม็กซิโกในปีค.ศ. 1876 และปกครองค่อนข้างต่อเนื่องยาวนาน (เว้นช่วงปีค.ศ. 1880 - 1884) จนกระทั่งเขาถูกบีบบังคับให้ลาออกในปีค.ศ. 1911[19] หลังจากการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของมานูเอล กอนซาเลซ ฟลอเรซ พันธมิตรของเขาในช่วงปีค.ศ. 1880 - 1884 ดีอัซได้ลงแข่งขันเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง และเป็นประธานาธิบดีจนถึงปี 1911 ในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่ง มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่ออนุญาตให้ประธานาธิบดีลงเลือกตั้งใหม่ได้โดยไม่จำกัดวาระ ดีอัซได้ท้าทายค่านิยมทางการเมืองของอดีตประธานาธิบดีเบนิโต ฆัวเรซ ที่เสนอให้ประธานาธิบดี "ไม่มีการลงเลือกตั้งเพื่อกลับมาใหม่"[20] ในช่วงยุคปอร์ฟิริอาโต มีการเลือกตั้งแต่ก็ไม่สม่ำเสมอต่อเนื่อง[21] แม้ว่าดีอัซจะประกาศต่อสาธารณะในช่วงที่เขาให้สัมภาษณ์นักข่าว เจมส์ ครีลแมน ว่า เขาจะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งในปีค.ศ. 1910 เพื่อจะหลุดพ้นจากกิจกรรมทางการเมืองที่วุ่นวาย แต่สุดท้ายเขาก็เปลี่ยนใจและลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้งขณะมีอายุ 80 ปี

การเลือกตั้งในปีค.ศ. 1910 เป็นเหตุการณ์การเมืองที่มีความสำคัญต่อการปฏิวัติเม็กซิโก เมื่อประธานาธิบดีชราอย่างดีอัซ ถูกตั้งคำถามว่าใครจะเป็นผู้สืบทอดทางการเมืองของเขา และคำถามนี้กลายเป็นประเด็นสำคัญมากขึ้น ในปีค.ศ. 1906 มีการรื้อฟื้นตำแหน่งรองประธานาธิบดีอีกครั้ง โดยดีอัซทำการเลือกพันธมิตรคนสนิทของเขาคือ รามอน กอร์รัล จากกลุ่มที่ปรึกษาซีอานติฟิโกของเขาให้มาดำรงตำแหน่งนี้[22] โดยในการเลือกตั้งปีค.ศ. 1910 ระบอบของดีอัซได้กลายเป็นเผด็จการอย่างมาก และมีการต่อต้านจากทุกภาคส่วนในสังคมเม็กซิกันมากขึ้น

ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ดีอัซเคยเป็นวีรบุรุษของชาติ ในช่วงการต่อต้านการแทรกแซงเม็กซิโกของฝรั่งเศสครั้งที่สองในทศวรรษที่ 1860 และเขาโดดเด่นมากขึ้นในสมรภูมิปวยบลา วันที่ 5 พฤษภาคม ค.ศ. 1862 ("ซินโกเดอมาโย")[23] ดีอัซเข้าสู่วงการเมืองหลังจากขับไล่กองทัพฝรั่งเศสออกไปในปีค.ศ. 1867 เมื่อเบนิโต ฆัวเรซได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในปีค.ศ. 1871 ดีอัซกล่าวหาว่าฆัวเรซโกงการเลือกตั้ง ฆัวเรซถึงแก่อสัญกรรมในตำแหน่งปีค.ศ. 1872 และเซบาสเตียน เลอร์โด เดอ เตเฆดา ขึ้นสืบทอดตำแหน่งต่อจากฆัวเรซ ดีอัซประสบความล้มเหลวในการก่อการกบฏต่อต้านประธานาธิบดีเลอร์โดตามแผนเดอลาโนรีอา[24] แต่ในภายหลังมีการตกลงให้นิรโทษกรรมแก่เขา แต่ถึงกระนั้นเมื่อเลอร์โดลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีอีกครั้งในปีค.ศ. 1876 ครั้งนี้ดีอัซประสบความสำเร็จในการก่อกบฏภายใต้แผนทักเตเป็ค[25][26]

ในช่วงปีแรกๆของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ดีอัซเป็นนักการเมืองผู้เชี่ยวชาญ เขาเล่นการเมืองเป็นกลุ่มการเมืองในขณะเดียวกันก็สามามารถรักษาและกระชับอำนาจของเขาเองได้ เขาใช้กองกำลังรูราเลซ ซึ่งเป็นกองกำลังตำรวจติดอาวุธที่ขึ้นตรงต่อเขาให้เป็นกลุ่มกำลังกึ่งทหารในการรักษาความสงบแถบชนบท เขาระงับการเลือกตั้ง โดยโต้เถียงว่าเขารู้ว่าอะไรดีที่สุดสำหรับประเทศชาติ และเขาก็ขับเคลื่อนความเชื่อนี้ด้วยอำนาจที่แข็งแกร่ง "ระเบียบและความก้าวหน้า" เป็นคำคติพจน์ของระบอบการปกครองของเขา[27] แม้ว่าดีอัซขึ้นสู่อำนาจในปีค.ศ. 1876 ภายใต้คติพจน์ "ไม่มีการลงเลือกตั้งเพื่อกลับมาใหม่" เขาให้มานูเอล กอนซาเลซ ฟลอเรซเข้าเป็นประธานาธิบดีในช่วงปี 1880 - 1884 แต่ดีอัซก็ยังคงอยู่ในอำนาจอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีค.ศ. 1884 จนถึงค.ศ. 1911 โดยมีการระงับการเลือกตั้งเป็นระยะและเข้มงวดในการเปิดโอกาสสู่ประชาธิปไตย

สมัยประธานาธิบดีดีอัซนั้นโดดเด่นด้วยการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมและการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานโดยการเปิดประเทศรับการลงทุนจากต่างประเทศ เขาเชื่อว่าฝ่ายต่อต้านจำเป็นต้องถูกปราบปรามและต้องฟื้นฟูระเบียบกฎหมายเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้ประกอบการต่างชาติให้มองว่าการลงทุนของพวกเขาจะปลอดภัย ความทันสมัยและความก้าวหน้าของเมืองนำม่ซึ่งค่าใช้จ่ายของชนชั้นแรงงานและชาวนาที่เพิ่มขึ้น

เกษตรกร ชาวไร่ชาวนาต่างถูกกดขี่และเอารัดเอาเปรียบ ระบบเศรษฐกิจได้นำมาซึ่งการก้าวกระโดดครั้งใหญ่ของยุคปอร์ฟิริอาโต ซึ่งเขาสนับสนุนการก่อสร้างโรงงานและอุตสาหกรรม รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆเช่นถนนและเขื่อนกักเก็บน้ำ รวมถึงการพัฒนาด้านเกษตรด้วย การพัฒนาด้านอุตสาหกรรมทำให้ชนกรรมาชีพในเมืองมีมากขึ้นและสามารถดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศทั้งจากสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร

ความมั่งคั่ง อำนาจทางการเมือง และการเข้าถึงระบบการศึกษานั้งกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มครอบครัวชนชั้นสูงจำนวนหนึ่ง ที่เป็นชนเชื้อสายยุโรปและเชื้อสายผสม กลุ่มชนนี้รู้จักในชื่อ ฮาเชนดาโดซ (hacendados) พวกเขาควบคุมพื้นที่บริเวณกว้างใหญ่ของประเทศโดยมีที่ดินในครอบครองขนาดใหญ่ (เช่น ครอบครัวเตร์ราซามีที่ดินแห่งหนึ่งในโซโนรา ซึ่งประกอบด้วยพื้นที่จำนวนหนึ่งล้านเอเคอร์) ประชาชนส่วนใหญ่ในเม็กซิโกเป็นชาวนาที่ไม่มีที่ดินทำกินอาศัยอยู่ในพื้นที่ดินของคนอื่นที่กว้างใหญ่ หรือเป็นแรงงานในอุตสาหกรรมที่ทำงานอย่างหนักเพื่อแลกค่าแรงที่สูงกว่าค่าแรงของทาสเพียงเล็กน้อย กลุ่มบริษัทต่างชาติส่วนใหญ่มาจากสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกา ก็ยังคงมีอิทธิพลในเม็กซิโกเช่นกัน

ระบบการเมือง

หนังสือพิมพ์ต่อต้านระบอบของดีอัซ ชื่อ เรเกเนอราชีออง เป็นหนังสือพิมพ์ที่ตีพิมพ์เป็นทางการของพรรคเสรีนิยมเม็กซิกัน (PLM)

ดีอัซได้สร้างกลไกทางการเมืองที่น่าเกรงขามไว้ โดยครั้งแรกเขาร่วมงานกับผู้มีอิทธิพลในภูมิภาค และนำพาบุคคลเหล่านี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในระบอบของเขา หลังจากนั้นก็แทนที่พวกเขาด้วยกลุ่ม เฆเฟส โปลิติโกส (jefes políticos; เจ้าพ่อการเมือง) ซึ่งเป็นผู้จงรักภักดีต่อดีอัซ ดีอัซสามารถจัดการความขัดแย้งทางการเมืองได้อย่างชำนาญและสามารถดึงบังเหียนไปสู่การมีอำนาจอย่างอิสระ เขาแต่งตั้งเหล่านายทหารในกองทัพมากมายให้ดำรงตำแหน่งฝ่ายปกครองในรัฐต่างๆ เช่น นายพลเบอร์นาร์โด เรเยส ผู้ซึ่งกลายเป็นผู้ว่าการรัฐนวยโวเลอองทางภาคเหนือ แต่พอหลายปีผ่านมา เหล่านายทหารถูกแทนที่ด้วยพลเรือนที่ภักดีต่อดีอัซแทน

ด้วยความที่เขาเป็นนายทหารมาก่อนและเป็นผู้ที่เข้าแทรกแซงการเมืองโดยตรงเพื่องชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปีค.ศ. 1876 ดีอัซตระหนักดีว่ากองทัพสหพันธรัฐสามารถต่อต้านเขาด้วยเช่นกัน เขาจึงเพิ่มตำแหน่ง "รูราเลส" (rurales) ซึ่งเป็นกองกำลังตำรวจที่เคยถูกจัดตั้งในสมัยประธานาธิบดีฆัวเรซ และดีอัซทำให้กองตำรวจนี้เป็นกองกำลังติดอาวุธส่วนตัว รูราเลสมีจำนวนเพียง 2,500 นาย เมื่อเทียบกับกองมัพ 30,000 นายของกองทัพสหพันธรัฐ และอีก 30,000 นายจากกองกำลังทหารต่างประเทศที่มาสมทบ ทหารนอกกฎหมายและทหารองครักษ์[28] ทั้งๆที่กองตำรวจรูราเลสมีจำนวนน้อย แต่พวกเขาก็มีประสิทธิภาพสูงในการควบคุมดินแดนชนบท โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขตตามทางรถไฟกว่า 12,000 ไมล์ พวกเขาเป็นกองกำลังเคลื่อนที่ มักจะขึ้นรถไฟพร้อมกับม้าของพวกเขา ในการจัดการพวกกบฏตามพื้นที่ห่างไกลของเม็กซิโก[29]

ธงสัญลักษณ์ ปี 1903 หน้าสำนักงานนิตยสารฝ่ายค้าน เอลฮีโฆอาฮวยโซลต์ อ่านว่า: "รัฐธรรมนูญตายไปแล้ว..." (The Constitution has died...)

การก่อสร้างทางรถไฟได้สร้างความเปลี่ยนแปลงในเม็กซิโก (เช่นเดียวกับสถานที่อื่นๆในลาตินอเมริกา) โดยทำให้เกิดการเร่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจและเพิ่มพลังอำนาจของรัฐเม็กซิกัน เป็นผลให้ความสุขของดินแดนห่างไกลที่ต้องการแยกตัวจากรัฐบาลกลางต้องสิ้นสุดลง มีการสร้างสายโมรเลขถัดจากทางรถไฟซึ่งเป็นการสร้างการสื่อสารทางตรงระหว่างรัฐห่างไกลและเมืองหลวง[30]

ความเฉียบแหลมและความยืดหยุ่นทางการเมืองของดีอัซได้ฉายแววในช่วงปีแรกๆของระบอบปอร์ฟีริอาโตจนกระทั่งถึงช่วงจุดเสื่อม เขานำพวกเหล่าผู้ว่าการรัฐเข้ามาอยู่ภายใต้การควบคุม และทำการเปลี่ยนตำแหน่งตามที่เขาประสงค์ กองทัพสหพันธรัฐมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็กลายเป็นกองทัพที่ไร้ประสิทธิภาพพร้อมๆกับเหล่านายพลที่แก่ชรา และมีทหารที่พร้อมเข้าปราบปรามโดยใช้กำลัง ดีอัซพยายามใช้วิธีการจัดการเดียวกับที่เขาทำกับระบบการเมืองเม็กซิกันซึ่งมีผลประโยชน์ทางธุรกิจ โดยแสดงความเอนเอียงไปยังผลประโยชน์ของยุโรปเพื่อต่อต้านสหรัฐอเมริกา[31]

การเอนเอียงไปยังผลประโยชน์ของคู่ขัดแย้งโดยเฉพาะพวกอเมริกันและอังกฤษนั้นซับซ้อนยิ่งกว่าระบบการเล่นพรรคเล่นพวกที่ซับซ้อนอยู่แล้ว[32] ด้วยกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นและภาคอุตสาหกรรมที่เจริญรุ่งเรือง สหภาพแรงงานเริ่มมีการจัดเงื่อนไขที่ดีขึ้น ด้วยการขยายตัวของเกษตรกรรมของเม็กซิโก ทำให้ชาวนาที่ไร้ที่ดินต้องถูกบังคับให้ทำงานเพื่อแลกกับค่าจ้างจำนวนที่ต่ำ หรือถูกบีบให้ย้ายเข้าเมือง การเกษตรของชาวนาถูกกดดันภายใต้การขยายตัวของการทำเกษตรกรรม เช่นในรัฐโมเรโลส ทางตอนใต้ของเม็กซิโกซิตี้ มีการทำไร่อ้อยน้ำตาลที่เจริญเติบโต มีสิ่งหนึ่งที่นักวิชาการเรียกว่า "แรงกดดันชาวนา" ซึ่ง "การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรสวนทางกับจำนวนที่ดินที่สูญเสีย ค่าจ้างงานที่ลดลง และสิทธิในการครอบครองที่ดินที่ไม่มั่นคง นำมาซึ่งความเสื่อมลงของระบบเศรษฐกิจในวงกว้าง" แต่ภูมิภาคที่อยู่ภายใต้ความตึงเครียดนี้ที่สุดกลับไม่ใช่เขตที่เกิดการกบฏ[33]

ฝ่านต่อต้านดีอัซ

ริการ์โด ฟลอเรซ มากอน (ซ้าย) และเอ็นริเก ฟลอเรซ มากอน น้องชาย (ขวา) แกนนำพรรคเสรีนิยมเม็กซิกัน ในเรือนจำแคลิฟอร์เนียเคานท์ตี ลอสแอนเจลิส ปีค.ศ. 1917

มีชาวเม็กซิกันจำนวนหนึ่งเริ่มจัดตั้งกลุ่มต่อต้านนโยบายของประธานาธิบดีดีอัซ ซึ่งเขาทำการต้อนรับการเข้ามาของกลุ่มทุนและนายทุนต่างประเทศ มีการต่อต้านกลุ่มสหภาพแรงงานที่เพิ่งจัดตั้ง และเกิดการต่อต้านกลุ่มชาวนาอย่างต่อเนื่องในช่วงที่การเกษตรกำลังรุ่งเรือง ในปีค.ศ. 1905 กลุ่มปัญญาชนและผู้ประท้วงชาวเม็กซิกัน ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งพรรคเสรีนิยมเม็กซิกัน (Partido Liberal de México; พรรคพีแอลเอ็ม) ได้ทำการร่างแผนการปฏิรูปที่รุนแรง ซึ่งพวกเขามุ่งแต่เสนอแผนการที่ระบอบของดีอัซตัดสินว่าว่าเป็นสิ่งแย่ที่สุด ผู้นำที่โดดเด่นที่สุดของพรรค PLM คือ ริการ์โด ฟลอเรซ มากอน พร้อมกับน้องชายของเขาคือ เอ็นริเก และพี่ชายคือ เฆซุส สามพี่น้องได้ร่วมมือกับลุยส์ กาเบรรา โลบาโตและอันโตนิโอ ดีอัซ โซโต ยี กามา ซึ่งเป็นกลุ่มต่อต้านระบอบดีอัซในการตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ เอลฮีโฆอาฮวยโซลต์ การ์ตูนล้อเลียนการเมืองถูกวาดโดยโฆเซ กัวดาลูเป โปซาดา ซึ่งได้วาดล้อเลียนนักการเมืองและกลุ่มชนชั้นนำในสังคมด้วยภาพตลกขบขันอันเผ็ดร้อน โดยแสดงภาพว่ากลุ่มพวกเขานั้นเป็นพวกโครงกระดูก พรรคเสรีนิยมเม็กซิกันก่อตั้งหนังสือพิมพ์แนวอนาธิปไตยที่ต่อต้านดีอัซ ชื่อ เรเกเนอราชีออง ซึ่งตีพิมพ์ในภาษาสเปนและอังกฤษ ปราเซดิส เกอร์เรโร นักกวีอนาธิปไตยที่ลี้ภัยอยู่ที่สหรัฐอเมริกาก็ทำการตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ต่อต้านดีอัซเช่นกัน ชื่อ อัลบา โรยา (Red Dawn; รุ่งอรุณสีแดง) ในเมืองซานฟรานซิสโก ถึงแม้ว่ากลุ่มฝ่ายซ้ายจะมีเพียงกลุ่มเล็กๆ แต่พวกเขาก็กลายเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลสูง ผ่านงานตีพิมพ์ของพวกเขาซึ่งช่วยในการต่อต้านระบอบดีอัซได้ดี ฟรังซิสโก บรูเนซขนานนามบุคคลเหล่านี้ว่า "นักเขียนที่แท้จริง" ของการปฏิวัติเม็กซิโก ในการปลุกเร้าผู้คน[34] เมื่อการเลือกตั้งค.ศ. 1910 มาถึง ฟรังซิสโก อี. มาเดโร ผู้เป็นนักการเมืองหน้าใหม่ที่มีแนวคิดอุดมคติ และเป็นสมาชิกหนึ่งในตระกูลที่ร่ำรวยที่สุดของเม็กซิโก ได้ให้ทุนสนับสนุนหนังสือพิมพ์ แอนตี้รีอีเล็กชั่นนิสตา (Anti-Reelectionista) เพื่อต่อต้านความพยายามของดีอัซที่จะลงเลือกตั้งเข้ามาดำรงตำแหน่งต่อเนื่องอีก

การนัดหยุดงานที่เมืองคานาเนอาในปีค.ศ. 1906 หน่วยรักษาความปลอดภัยของบริษัททำการปราบปรามแรงงาน

องค์กรแรงงานดำเนินการนัดหยุดงานเพื่อให้เพิ่มค่าจ้างและสวัสดิการให้ดีขึ้น พวกเขาต้องการสภาพความเป็นอยู่ของแรงงานที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นประเด็นหลักของโครงการจากพรรคเสรีนิยม ที่ร่างขึ้นในปีค.ศ. 1905 แรงงานเหมืองทองแดนบริเวณภาคเหนือของเม็กซิโกที่โซโนรา ดำเนินการนัดหยุดงานที่เมืองคานาเนอา ปีค.ศ. 1906 ซึ่งมีการปราบปรามอย่างรุนแรง ท่ามกลางข้อเรียกร้องอื่นๆ พวกเขาได้รับเงินค่าจ้างน้อยกว่าแรงงานเหมืองสัญชาติสหรัฐอเมริกาเสียอีก[35] ในรัฐเบราครูซ แรงงานในโรงงานสิ่งทอได้ก่อการจลาจล ในเดือนมกราคม ค.ศ.1907 ที่โรงงานใหญ่รีโอบลังโก ซึ่งเป็นโรงงานสิ่งทอที่ใหญ่ที่สุดในโลก ก่อการประท้วงการปฏิบัติต่อแรงงานอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งพวกเขาต้องจ่ายเครดิตที่สามารถใช้ได้เฉพาะร้านค้าที่ทำสัญญากับบริษัทเท่านั้น[36]

การนัดหยุดงานเหล่านี้ถูกปราบปรามอย่างไร้ความปราณีโดยเจ้าของโรงงานซึ่งได้รับความช่วยเหลือด้านกองกำลังจากรัฐบาล ในเหตุการณ์ที่คานาเนอา วิลเลียม คอร์แนล กรีนนี เจ้าของเหมืองได้รับการสนับสนุจากกองกำลังรูราเลสของดีอัซในโซโนรา และมีการเรียกแอริโซนาเรนเจอร์ให้ข้ามแชนแดนมาจากสหรัฐอเมริกาด้วย[37] ในรัฐเบราครูซ กองทัพเม็กซิกันเข้าปราบปรามแรงงานสิ่งทอรีโอบลังโกด้วยอาวุธปืน จากนั้นนำศพของแรงงานขึ้นรถไฟบรรทุกไปยังเบราครูซ "ซึ่งศพของพวกเขาถูกโยนทิ้งจากท่าเรือเพื่อเป็นอาหารให้ฉลาม"[38] การปราบปรามการนัดหยุดงานโดยรัฐบาลไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สำหรับเม็กซิโก โดยเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรปตะวันตกด้วย

เนื่องด้วยสื่อถูกปราบปรามในเม็กซิโกภายใต้การปกครองของดีอัซ การจะตีพิมพ์อะไรเพียงเล็กน้อยในเม็กซิโกถูกมองว่ากำลังวิพากษ์วิจารณ์ระบอบการปกครอง หนังสือพิมพ์แทบไม่ได้รายงานเหตุการณ์การยัดหยุดงานที่รีโอบลังโก การนัดหยุดงานที่คาเนเนอา หรือการปฏิบัติต่อแรงงานอย่างโหดร้ายในไร่ที่โออาซากาและยูกาตัง กลุ่มฝ่ายซ้ายที่ต่อต้านดีอัซ เช่น ริการ์โด ฟลอเรซ มากอน และปราเซดิส เกอร์เรโร หลบหนีลี้ภัยอย่างปลอดภัยที่สหรัฐอเมริกา แต่ด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลสหรัฐกับสายลับของดีอัซทำให้พวกเขาถูกจับกุม

การสืบทอดตำแหน่งประธานาธิบดี ค.ศ. 1910

โฆเซ อีฟ ลีมันตูร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของดีอัซ และเป็นผู้นำกลุ่มซีอานติฟิโกนายพลเบอร์นาร์โด เรเยส

ดีอัซปกครองมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปีค.ศ. 1884 ประเด็นปัญหาเรื่องผู้สืบทอดตำแหน่งประธานาธิบดีเริ่มกลายเป็นที่ถกเถียงในช่วงต้นทศวรรษที่ 1900 เมื่อดีอัซมีอายุได้ 70 ปี[39] ซึ่งเป็น "เจตนาของเขาที่จะไม่ประกาศว่าจะก้าวลงจากตำแหน่งประธานาธิบดีในปีค.ศ. 1904"[40] ดีอัซดูเหมือนจะพิจารณาให้ โฆเซ อีฟ ลีมันตูร์ รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง เป็นผู้สืบทอดของเขา ลีมันตูร์เป็นบุคคลสำคัญในกลุ่มที่ปรึกษาซีอานติฟิโก ซึ่งเป็นกลุ่มที่ปรึกษาเทคโนแครตที่มีความเชี่ยวชาญทางรัฐศาสตร์

ผู้สืบทอดที่เป็นไปได้อีกคนหนึ่งคือ นายพลเบอร์นาร์โด เรเยส รัฐมนตรีกระทรวงสงครามของดีอัซและยังเป็นผู้ว่าการรัฐนวยโวเลออง นายพลเรเยสนั้นเป็นศัตรูกับกลุ่มซีอานติฟิโก เขาเป็นนักปฏิรูปสายกลาง ซึ่งมีฐานการสนับสนุนจำนวนมาก[40] ดีอัซเริ่มกังวลว่าเรเยสจะเข้ามาในฐานะคู่แข่ง ดังนั้นจึงบีบบังคับให้เขาลาออกจากคณะรัฐมนตรี ดีอัซพยายามลดความสำคัญของเรเยสโดยส่งเข้าไปปฏิบัติ "ภารกิจทางทหาร" ในยุโรป[41] เพื่อให้เขาห่างจากเม็กซิโกและผู้ที่สนับสนุนเขา

ดีอัซรื้อฟื้นตำแหน่งรองประธานาธิบดีขึ้นอีกครั้งในปีค.ศ. 1906 โดยเลือกรามอน กอร์รัลให้ดำรงตำแหน่งนี้ แทนที่เขาจะจัดการเรื่องผู้สืบทอด แต่ดีอัซกลับลดความสำคัญของกอร์รัลโดยพยายามกีดกันเขาออกจากการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ[42]

ในปีค.ศ. 1908 จากการสัมภาษณ์กับเจมส์ ครีลแมน นักข่าวชาวอเมริกัน ดีอัซกล่าวว่าเม็กซิโกพร้อมแล้วกับระบอบประชาธิปไตย และเขาจะก้าวลงจากตำแหน่งเพื่อให้ผู้สมัครคนอื่นๆเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี[43][44][45] เนื่องจากเหตุนี้ ตำแหน่งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีจึงเปิดโอกาสให้ผู้อื่นในปีค.ศ. 1910 หลังจากนั้นดีอัซจะลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีและลงมาทำกิจกรรมร่วมกันกับฝ่ายที่ต่อต้าน เพื่อให้ได้รับการเลือกตั้งกลับมาใหม่

"ความท้าทายที่เกิดขึ้นจากเรเยส เป็นหนึ่งในเรื่องที่ทำให้ดีอัซทุกข์ใจตลอดช่วงท้ายของทศวรรษ สิ่งนีทำให้เขาตาบอดจนไม่เห็นอันตรายจากภัยคุกคามของการรณรงค์ต่อต้านการเลือกตั้งกลับมาใหม่ ที่ดำเนินการโดยฟรังซิสโก มาเดโร"[46]

ในปีค.ศ. 1910 ฟรังซิสโก อี. มาเดโร ชายหนุ่มผู้มาจากตระกูลเจ้าของที่ดินผู้ร่ำรวยของรัฐทางตอนเหนือ รัฐโกอาวีลา ประกาศเจตนาตั้งใจที่จะท้าทายอำนาจดีอัซซึ่งพยายามเข้ามาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้งผ่านการเลือกตั้ง มาเดโรชูธงของพรรคต่อต้านการเลือกตั้งกลับมาใหม่ (Anti-Reelectionist Party) มาเดโรเลือกคู่หูของเขามาร่วมด้วยคือ ฟรังซิสโก บาสเกซ โกเมซ เขาเป็นแพทย์ผู้ต่อต้านดีอัซ[47] ดีอัซหวังว่าเขาจะสามารถควบคุมการเลือกตั้งได้เหมือนการเลือกตั้งเจ็ดครั้งก่อนหน้านี้[48] แต่มาเดโรมีการรณรงค์อย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพ ดีอัซจึงมีคำสั่งจับกุมมาเดโร เพื่อให้แน่ใจว่าเขาจะไม่ชนะการเลือกตั้ง มาเดโรหลบหนีไปหลบซ่อนในช่วงเวลาสั้นๆที่แซนแอนโทนีโอ รัฐเท็กซัส[48] ดีอัซได้รับการประกาศว่าชนะการเลือกตั้งแบบ "ถล่มทลาย" เมื่อมีการเห็นได้ชัดว่าการเลือกตั้งถูกแก้ไข ตอรีบีโอ ออร์เตกา รามีเรซ ผู้สนับสนุนมาเดโรจึงชูกองกำลังติดอาวุธที่คูชิลโลปาราโด เมืองชีวาวา รัฐชีวาวา ในวันที่ 10 พฤศจิกายน ค.ศ. 1910

จุดจบยุคปอร์ฟิริอาโต

สมรภูมิสำคัญในการต่อสู้เพื่อขับไล่ดีอัซ ช่วงเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1910 - เดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1911 ปฏิบัติการที่สำคัญเกิดขึ้นแถบชายแดนทางภาคเหนือ โดยยุทธการที่ซิวแดด ฆัวเรซถือเป็นจุดตัดสินชี้ขาด แต่การต่อสู้ในโมเรโลสโดยพวกซาปาติสตาก็มีความสำคัญอย่างยิ่งในบริเวณรัฐทางตอนใต้ของเมืองหลวงเม็กซิโก

ในวันที่ 5 ตุลาคม ค.ศ. 1910 มาเดโรเขียน "จดหมายจากเรือนจำ" ที่เป็นที่รู้จักในชื่อ แผนซานลุยส์โปโตซี โดยมีคำขวัญหลักว่า "Sufragio Efectivo, No Re-elección" ("สิทธิในการออกเสียงที่เป็นอิสระ และไม่มีการเลือกตั้งกลับมาใหม่") แผนนี้เป็นการประกาศว่าตำแหน่งประธานาธิบดีของดีอัซนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายและมีการเรียกร้องให้ก่อกบฏต่อต้านดีอัซ เริ่มในวันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 1910 แผนการทางการเมืองของมาเดโรไม่ได้เป้นการร่างเค้าโครงการปฏิวัติทางสังคมเศรษฐกิจ แต่เป็นการเสนอความหวังที่จะเปลี่ยนแปลงความเสียเปรียบที่ชาวเม็กซิกันจำนวนมากต้องเผชิญ[48]

เหล่าผู้นำกบฎทางตอนเหนือที่ต่อต้านดีอัซถ่ายรูปร่วมกันหลังสิ้นสุดยุทธการที่ซิวแดด ฆัวเรซ ในรูปประกอบด้วย โฆเซ มารีอา ปิโญ ซัวเรซ, เบนุสติอาโน การ์รันซา, ฟรังซิสโก อี. มาเดโร (และบิดาของเขา), ปาสกูอัล โอรอซโก, ปานโช บิลยา, กุสตาโว มาเดโร, ราอูล มาเดโร, อับราฮัม กอนซาเลซ และจูเซปเป การิบัลดี จูเนียร์

แผนของมาเดโรมุ่งเป้าไปที่การปลุกระดมให้ก่อการจลาจลต่อต้านดีอัซ แต่เขาก็เข้าใจว่าการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาและนักการเงินชาวอเมริกันเป็นสิ่งที่คอยกัดเซาะระบอบการปกครอง ครอบครัวมาเดโรซึ่งร่ำรวยและมีอำนาจได้พยายามดึงทรัพยากรเพื่อทำการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง โดยน้องชายของเขาคือ กุสตาโว อา. มาเดโร เป็นผู้จัดการทรัพยากรเหล่านี้ ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1910 และมีการว่าจ้างนักกฎหมายจากวอชิงตัน คือ เชอร์บรูน ฮ็อปกินส์ ซึ่งได้รับการขนานนามว่า "เป็นตัวกระตุ้นการปฏิวัติในลาตินอเมริกาที่ดีที่สุดในโลก" ให้เข้ามาร่วมด้วยเพื่อดึงการสนับสนุนมาจากสหรัฐอเมริกา[49] กลยุทธ์ที่ทำให้ดีอัซเสียเครดิตกับเหล่านักธุรกิจอเมริกันและรัฐบาลสหรัฐฯนั้นประสบความสำเร็จ โดยผู้แทนจากสแตนดาร์ดออยล์เข้ามามีส่วนร่วมในการเจรจากับกุสตาโว มาเดโร ซึ่งทำให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกา "ยอมน้อมต่อกฎการวางตัวเป็นกลางต่อนักปฏิวัติ"[50]

ขบวนการปฏิวัติในช่วงหลังค.ศ. 1910 ได้ออกมาตอบสนองต่อแผนซานลุยส์โปโตซีของมาเดโร มาเดโรมีสัญญาอันคลุมเครือในเรื่องการปฏิรูปที่ดินในเม็กซิโก ซึ่งเรื่องการปฏิรูปที่ดินนี้ดึงดูดใจชาวนาทั่วเม็กซิโกอย่างมาก มีการกบฏเกิดขึ้นไปทั่ว ทั้งแรงงานในฟาร์มทั่วไป คนงานเหมืองและชาวเม็กซิกันชนชั้นแรงงานอื่นๆ พร้อมกับประชาชนชนพื้นเมืองจำนวนมาก ต่อสู้กับกองกำลังของดีอัซอย่างประสบความสำเร็จ มาเดโรรวมผู้นำกองกำลังกบฏเข้าด้วยกัน เช่น ปาสกูอัล โอรอซโก, ปานโช บิลยา, ริการ์โด ฟลอเรซ มากอน, เอมิลีอาโน ซาปาตาและเบนุสติอาโน การ์รันซา โอรอซโกเป็นชาวหนุ่มผู้ฉลาดหลักแหลมและมีศักยภาพในการปฏิวัติ เขาร่วมมือกับผู้ว่าการรัฐชีวาวา อับราฮัม กอนซาเลซ จัดตั้งกองทัพที่ทรงอานุภาพทางตอนเหนือ และแม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้มุ่งมั่นในตัวมาเดโรมากนัก กองทัพกบฏยึดเมืองเมฆิกาลิและชีวาวาซิตี้ ชัยชนะเหล่านี้ได้กระตุ้นพันธมิตรคนอื่นๆ เช่น ปานโช บิลยา โอรอซโกและบิลยาต่อสู้และได้ชัยชนะในยุทธการที่ซิวแดด ฆัวเรซที่มีพรมแดนติดกับเอลแพโซ (รัฐเท็กซัส) ทางตอนใต้ของแม่น้ำรีโอแกรนด์ ซึ่งการรบครั้งนี้ขัดต่อเจตนารมณ์ของมาเดโร การเรียกร้องให้ก่อกบฏของมาเดโรได้เกิดผลลัพธ์อย่างไม่คาดคิด เช่น เกิดกบฏมากอนิสตา ปีค.ศ. 1911 ที่รัฐบาฮากาลิฟอร์เนีย

ใกล้เคียง

แหล่งที่มา

WikiPedia: การปฏิวัติเม็กซิโก http://web.ebscohost.com/ehost/pdfviewer/pdfviewer... http://www.ic.arizona.edu/ic/mcbride/ws200/mex.htm http://www.getty.edu/research/conducting_research/... http://revolutions.truman.edu/mexico http://msem.ucpress.edu/content/34/1/36 http://www.hist.umn.edu/~rmccaa/missmill/mxrev.htm http://www2.ups.edu/faculty/jlago/fl380/source3_02... http://beinecke.library.yale.edu/digitallibrary/me... http://www.library.yale.edu/beinecke/ http://edsitement.neh.gov//spotlight.asp?id=187